สร้างวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืนด้วยพลังของอาสาสมัครกาชาด
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสภากาชาดไทย ช่วยกันเยียวยาโลกนี้ด้วยสองมือของเรา
สภากาชาดไทยร่วมลงนามกฎบัตรสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กรด้านมนุษยธรรม (Climate and Environment Charter for Humanitarian Organizations)
สภากาชาดไทยโดยเลขาธิการสภากาชาดไทย ได้ร่วมลงนามอิเล็กทรอนิกส์ในกฎบัตรสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กรด้านมนุษยธรรม (Climate and Environment Charter for Humanitarian Organizations) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 พร้อมประกาศเป้าหมาย 4 ข้อ ในการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสียด้วยการลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่
- เพิ่มนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความยั่งยืนในการดำเนินงานและกิจกรรมของสภากาชาดไทยให้ได้ผลมากขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในงานด้านสาธารณูปโภคของสภากาชาดไทยให้มากขึ้น
- ส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่นโยบายรวมถึงแนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของสภากาชาดไทยได้รับรู้และนำไปปฏิบัติ
กฎบัตรสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กรด้านมนุษยธรรม (Climate and Environment Charter for Humanitarian Organizations) เป็นความร่วมมือของกลุ่มองค์กรด้านมนุษยธรรมในระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีส กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน (ณ วันที่ 23 มกราคม 2567) มีองค์กรและหน่วยงานด้านมนุษยธรรมร่วมลงนามไปแล้ว381 องค์กร ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงจำนวน 135 แห่ง ทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จาก https://www.climate-charter.org/
สถานการณ์ปัจจุบัน
การจัดการขยะเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและรูปแบบพฤติกรรมการบริโภคส่งผลให้ปัญหาขยะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ขยะทะเลเป็นปัญหาที่มีความสำคัญของประเทศไทย ของภูมิภาคอาเซียนและของโลกขยะพลาสติกในทะเล 80 เปอร์เซ็นต์มาจากกิจกรรมบนบก อีกร้อยละ 20 มาจากกิจกรรมในทะเล